ทำบัญชีอย่างไรให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร ทำบัญชีอย่างไรให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร ใน 1 รอบปีบัญชีปฏิทิน ธุรกิจจะต้องมีการจัดทำบัญชีเพื่อนำส่งงบการเงินต่อส่วนราชการ (ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร)
การทำบัญชีในแต่ละปี จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการส่งงบการเงินดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารของกิจการไม่ว่าจะเป็นความถูกต้องของงบการเงินตามมาตรฐานบัญชี และความถูกต้องครบถ้วนของการนำส่งภาษีประจำปี ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกเรียก ตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน สั่งให้เสียภาษีอากร และบางครั้งการกระทำดังกล่าวอาจมีความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร
ดังนั้นผู้ทำบัญชี รวมถึงผู้บริหารของกิจการ จึงควรจัดให้มีการสอบทานการทำบัญชีดังนี้
1. การรับรู้รายได้ และค่าใช้จ่าย ในแต่ละประเภทธุรกิจย่อมจะมีการรับรู้รายได้ และค่าใช้จ่าย ให้สอดคล้องกับประเภทธุรกิจเป็นการใช้เกณฑ์สิทธิ์ตามมาตร 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2. รายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร เมื่อบันทึกบัญชีเสร็จสิ้น ก่อนการส่งงบการเงินให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบกิจการจะต้องทำการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีของกิจการ ดังนั้นรายจ่ายที่จะนำไปหักออกจากรายได้จะต้องเป็นรายจ่ายที่สรรพากรยอมรับ คือไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร ในทางปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเมื่อพบค่าใช้จ่ายประเภทนี้ จะต้องนำไปบวกกลับ ในการคำนวณกำไรสุทธิประจำปี
3. การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน เมื่อมีการซื้อทรัพย์สินมาจะต้องมีการบันทึกต้นทุนของทรัพย์สิน และในแต่ละปีจะต้องคำนวณค่าเสื่อมราคาเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 145 มาตรา 4
4. การปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรทางภาษีอากร(บวกกลับ) ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ และ65 ตรี
5. ภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการสอบทานความครบถ้วน ถูกต้องของการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือน โดยเฉพาะ ธุรกิจบริการจะต้องมีการกระทบรายได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องและครบถ้วน
6. การหักภาษี ณ ที่จ่าย มีการสอบทานความครบถ้วนถูกต้อง ตามมาตรา 3 เตรส หรือคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528
7. รายจ่ายสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ตามประมวลรัษฎากรได้ให้สิทธิประโยชน์รายจ่ายบางประเด็นให้กิจการถือเป็นรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากที่ได้จ่ายไปจริง
8. อากรแสตมป์ ในสัญญาต่างๆทางธุรกิจ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง และครบถ้วน ไม่ว่าในส่วนของการชำระเป็นตัวเงินหรือการปิดอากรแสตมป์
9. การวิเคราะห์งบการเงินในมิติต่างๆ โดยเทียบกับปีก่อน เพื่อหาสิ่งที่ผิดปกติ และสอบทานข้อมูลอีกครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการบันทึกบัญชี
10. ภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่น จะต้องสอบทานการนำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยรับจากบัญชีลูกหนี้เงินยืมกรรมการ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป ในการทำบัญชี ผู้ทำบัญชี จะต้องสอบทานความถูกต้องของการบันทึกบัญชี และการสรุปจัดทำการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี และ ส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบความถูกต้อง และครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงจากการผิดพลาด และครบถ้วน การนำส่งภาษีประจำปี ทั้งนี้เพื่อป้องการการเรียกตรวจสอบบัญชีจากกรมสรรพากร เพราะในปัจจุบันกรมสรรพากรได้จัดทำนโยบาย BIG CHANGE กรมสรรพากร เน้นพัฒนาระบบ IT เพื่อต่อยอดบริการใหม่ๆและรณรงค์ให้ผู้เสียภาษียื่นแบบทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งในอนาคตกรมสรรพากรจะมีข้อมูลการนำส่งภาษีไว้พร้อมเพื่อนำมาวิเคราะห์ความถูกต้องและครบถ้วนของการนำส่งภาษีธุรกิจต่างๆ ซึ่งหากกิจการไม่มีระบบการสอบทานก็อาจถูกกรมสรรพากรออกหมายเรียกตรวจสอบแนะนำได้
บริษัท บัญชีสยามออนไลน์ จำกัด รับจดทะเบียนบริษัท รับทำบัญชี ด้วยโปรแกรมบัญชีออนไลน์ และรับตรวจสอบบัญชี สำนักงานบัญชีคุณภาพ / www.buncheesiam.com สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร : 02-9640061, 02-9640062 Mobile : (065) 449-1925, 096-6569162 |